ทำความรู้จัก 'ไอเลิฟไลบรารี่' โปรแกรมสร้างอี-บุ๊กเลือดไทย

 

ไขความลับการทำอี-บุ๊ก จากผู้บริหารบริษัทโอเพ่นเซิร์ฟ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในการสร้างและอ่านอี-บุ๊ก แนะนำว่าหนอนหนังสือทั้งที่นิยมอ่านเป็นรูปเล่มและฉบับดิจิตอล ไม่ควรพลาด! ...

จากแนวโน้มสู่การใช้ชีวิตแบบยุคดิจิตอล และความนิยมในการใช้งานแท็บเล็ตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อี-บุ๊ก) เริ่มมีเค้าลางเด่นชัดขึ้นในประเทศไทย ประกอบกับการผลักดันนโยบายแจกแท็บเล็ตแก่นักเรียนของรัฐบาล ยิ่งทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและจับตาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านดังกล่าว วันนี้ ทีมข่าวไอทีออนไลน์ จะพาไปรู้จักกับหนึ่งในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแวดวงอี-บุ๊ก นั่นคือ บริษัท โอเพ่นเซิร์ฟ จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไอเลิฟไลบรารี่ (I love library) โดยได้รับเกียรติจาก นายนิทัศน์ มณีศิลาสันต์ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้เล่ารายละเอียดที่น่าสนใจ ตั้งแต่บรรทัดต่อไปให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบ... 

IT Digest : ไอเลิฟไลบรารี่คืออะไร
นิทัศน์ : ไอเลิฟไลบรารี่ เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างอีบุ๊ก (e-Book) ล่าสุดเราออกโปรแกรมเวอร์ชั่น 3.1 ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชั่นที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการอ่านอี-บุ๊กถูกพัฒนาจากการอ่านบนคอมพิวเตอร์พีซีเป็นการอ่านบนแท็บเล็ตด้วย เราจึงพัฒนาให้หนังสือที่สร้างโดยโปรแกรมไอเลิฟไลบรารี่สามารถพร้อมอ่านบนแท็บเล็ตครบทุกแพลตฟอร์ม ทั้งไอโอเอส แอนดรอยด์ และวินโดวส์ เพื่อตอบโจทย์ในการลดความยุ่งยากของผู้สร้างอี-บุ๊ก ที่ต้องการอ่านบนหลายระบบปฏิบัติการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละระบบปฏิบัติการซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกัน โดยพร้อมให้ดาวน์โหลดได้ทุกระบบปฏิบัติการแล้ว

IT Digest : เปิดตัวครั้งแรกเมื่อไหร่
นิทัศน์ : ไอเลิฟไลบรารี่เริ่มเปิดบริการครั้งแรกประมาณเดือน เม.ย. ปี 2551 มีผู้สนใจดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ไอเลิฟไลบรารี่ไปแล้วกว่า 300,000 ราย มี อี-บุ๊กพร้อมให้ดาวน์โหลดไปอ่านบนเว็บไซต์ (www.ilovelibrary.com) ประมาณ 6,000 เล่ม ซึ่งกลุ่มผู้สร้างอี-บุ๊กส่วนใหญ่คือสถานศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์และนักเรียนที่ต้องการทำสื่อการเรียนการสอน

IT Digest : จุดเด่นของไอเลิฟไลบรารี่คืออะไร
นิทัศน์ : ในไอเลิฟไลบรารี่เวอร์ชั่นที่ผ่านๆ มา เราเน้นความง่ายในการใช้งาน ใครๆ ก็สามารถสร้างอี-บุ๊กได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้เรายังคำนึงถึงหลักการอ่านหนังสือเสมือนจริง โดยจะใช้การพลิกหน้าเพื่อเปิด แตกต่างจากรายอื่นๆ ที่ใช้การเลื่อนซึ่งอาจทำให้ไม่รู้สึกเหมือนเป็นการอ่านหนังสือ ขณะเดียวกันไอเลิฟไลบรารี่ยังง่ายต่อการใส่มัลติมีเดียทั้งภาพและเสียงประกอบ โดยไม่ต้องใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์มากนัก นอกจากนี้ยังสามารถสร้างสารบัญเพื่อเชื่อมโยงไปยังหัวข้อต่างๆ ได้ทันที และยังสามารถทำสันหนังสือได้ด้วย ซึ่งเรามั่นใจว่าปัจจุบันยังไม่มีโปรแกรมใดในประเทศไทยที่ใช้งานง่ายและครบเหมือนไอเลิฟไลบรารี่ โดยในเวอร์ชั่น 3.1 ของไอเลิฟไลบรารี่มีสโลแกนว่าโหลดฟรี สร้างง่าย อ่านได้หลายแพลตฟอร์ม

IT Digest : ขั้นตอนการสร้างอี-บุ๊กด้วยไอเลิฟไลบรารี่ต้องทำอย่างไร
นิทัศน์ : การสร้างอี-บุ๊กต้องสร้างบนพีซี ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ไอเลิฟไลบรารี่และติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วจึงทำการสแกนหนังสือเล่มที่ต้องการอ่านเป็นอี-บุ๊ก เพื่อทำการอัพโหลดขึ้นบน www.ilovelibrary.com โดยสามารถเลือกว่าจะอัพโหลดเพื่อเก็บไว้อ่านส่วนตัว หรือเผยแพร่ให้อ่านได้สาธารณะ หลังจากนั้นโปรแกรมจะใช้เวลา 5-7 วินาทีในการปรับเนื้อหาให้อี-บุ๊กเล่มดังกล่าวพร้อมอ่านได้ทั้งบนพีซีและแท็บเล็ต โดยมีข้อจำกัดว่าเนื้อหาทั้งหมดจะต้องมีขนาดไม่เกิน 70MB โดยผู้ที่ต้องการอ่านจะต้องทำการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไอเลิฟไลบรารี่ วิวเวอร์ (ilovelibrary viewer) ติดตั้งบนพีซีหรือแท็บเล็ต เพื่อให้สามารถอ่านอี-บุ๊กจากชั้นหนังสือของไอเลิฟไลบรารี่

IT Digest : เล็งเห็นโอกาสอย่างไรในธุรกิจอี-บุ๊ก
นิทัศน์ : ในช่วงแรกของการพัฒนาโปรแกรมไอเลิฟไลบรารี่ยังเป็นการยากในเชิงธุรกิจ เนื่องจากการอ่านบนคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่งในปี 2554 ที่แท็บเล็ตได้รับความนิยมมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียน เราจึงเล็งเห็นโอกาสและรีบพัฒนาซอฟต์แวร์เวอร์ชั่น 3.1 ทันที ปัจจุบันเรายังไม่ได้เข้าสู่ตลาดการขายหนังสือ ช่วงนี้สำนักพิมพ์เองก็เพิ่งเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของการทำอี-บุ๊ก และหลายค่ายกำลังเตรียมตัวทำคอนเทนต์เพื่อรองรับนโยบายแจกแท็บเล็ตของรัฐบาล ประกอบกับยังมีรายละเอียดในการทำอี-บุ๊ก ซึ่งมีขั้นตอนพอสมควร เราจึงมองว่าสมควรรอเวลาที่เหมาะสมอีกซักพัก นอกจากนี้ภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.ปีนี้ บริษัทยังเตรียมเปิดตัว www.ilovebookstore.com สำหรับให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ทำเอกสารหรืออีบุ๊กตัวอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือไปอ่านก่อนตัดสินใจซื้อหนังสือจริง

IT Digest : มองตลาดอี-บุ๊กในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
นิทัศน์ : มองได้เป็น 3 ส่วน คือ 1.รายได้จากการขายโฆษณา 2.โอกาสในการขายโปรแกรมให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการใช้งานเอกสารเป็นการภายใน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้ากลุ่มดังกล่าวประมาณ 50-60 ราย และ 3.ความเป็นไปได้ของตลาดอี-บุ๊ก ซึ่งในปีนี้อาจมีมูลค่าตลาดถึง 1,200-1,500 ล้านบาท จากความนิยมในการใช้งานแท็บเล็ตรวมถึงการผลักดันนโยบายแจกแท็บเล็ตซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นตลาด ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะเป็นโอกาสของตลาดอี-บุ๊ก

IT Digest : กลุ่มเป้าหมายคือใคร
นิทัศน์ : เรามองว่าใช้งานได้ทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำอี-บุ๊ก อัลบั้มภาพ หรือแม้แต่นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการทำรายงานส่งครูอาจารย์ ในอนาคตยังรวมถึงหน่วยงานราชการที่ต้องการเผยแพร่สื่อหรือหนังสือต่างๆ ก็สามารถใช้โปแกรมไอเลิฟไลบรารี่ได้เช่นกัน

IT Digest : มองพฤติกรรมการอ่านคนไทยพร้อมสำหรับอี-บุ๊กแล้วหรือยัง
นิทัศน์ : สำหรับดีไวซ์ในปัจจุบันถือว่าพร้อมแล้ว แม้ว่ายังมีราคาระดับสูง ถ้าสามารถกดราคาให้ถูกลงและจัดการเรื่องการระบายความร้อนได้ดี ก็จะยิ่งทำให้การอ่านอี-บุ๊กเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยส่วนตัวคิดว่าความเหมาะสมอันดับแรกขึ้นอยู่กับราคาอุปกรณ์ ประการต่อมาคือความพร้อมของสำนักพิมพ์รวมถึงการกำหนดราคาอี-บุ๊กให้ถูกลงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน คาดว่าภายในปีหน้าคงได้เห็นแนวโน้มดังกล่าวอย่างชัดเจน

IT Digest : ทำไมจึงเลือกเปิดตัวไอเลิฟไลบรารี่ 3.1 ในช่วงนี้ และคาดหวังอย่างไรจากการเปิดตัว 
นิทัศน์ : ย้อนกลับไปในช่วงก่อตั้งบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) ซึ่งนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2547 ต่อมาเมื่อประมาณปี 2551 จึงมีโอกาสเห็นซอฟต์แวร์อี-บุ๊กที่ประเทศเยอรมนี จากนั้นจึงตั้งทีมพัฒนาเองและได้ขอซื้อบริษัทโอเพ่นเซิร์ฟคืนมาเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวอย่างจริงจังเมื่อเม.ย.2553 ประกอบกับเล็งเห็นโอกาสจากความนิยมแท็บเล็ตจึงเริ่มพัฒนาเวอร์ชั่น 3.1 ตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.2554 และทำการเปิดตัวในช่วงนี้ ซึ่งเรามั่นใจว่าพัฒนาซอฟต์แวร์ได้สมบูรณ์แล้ว

สำหรับความคาดหวังจากการเปิดตัวเรายังไม่ได้คำนึงถึงด้านยอดขาย ในปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านดาวน์โหลด ซึ่งเราคาดหวังสัดส่วนนักเรียนที่จะใช้แท็บเล็ตเพิ่มขึ้นจากโครงการแท็บเล็ตของรัฐบาลทั้งหมด โดยเฉพาะโรงเรียนในแถบภาคอีสานซึ่งเราพอมีฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว

IT Digest : อะไรคือความแตกต่างระหว่างตลาดอี-บุ๊กในไทยกับต่างประเทศ
นิทัศน์ : หากจะเทียบกับรายใหญ่อย่างอะเมซอนในตลาดต่างประเทศก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะรายใหญ่มีการผลิตเครื่องอ่าน คอนเทนต์ และสร้างการอ่านแบบคลาวด์ให้อ่านได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ยังอยู่ระหว่างขั้นเริ่มต้น จากการกระตุ้นของตลาดแท็บเล็ตและโครงการแจกแท็บเล็ตของรัฐบาล

วันนี้ตลาดอี-บุ๊กในไทยถือว่าเพิ่งเริ่มก่อตัว เรามองว่าการเริ่มช่วงกลางปีนี้ก็ยังไม่ช้าเกินไป เพราะเชื่อว่าปี 2556 จะเริ่มโตและปี 2557 จะโตขึ้นอีกมากและอาจมีมูลค่าตลาดถึง 5,000 ล้านบาท

IT Digest : อยากฝากอะไรถึงผู้ที่ยังไม่เคยอ่านอี-บุ๊ก
นิทัศน์ : มองว่าหนังสือถือเป็นความเคยชินเท่านั้น เพราะสิ่งที่เราเสพก็คือคอนเทนต์เท่านั้น โดยส่วนตัวก็อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กเพราะที่บ้านทำธุรกิจร้านหนังสือ สิ่งสำคัญคือการเก็บรักษาหนังสือที่เรามี อรรถรสในการอ่านถือเป็นสิ่งสำคัญก็จริงแต่ปัจจุบันการดูแลรักษาถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นปัญหา จากอัตราค่าที่อยู่อาศัยหรือปัญหาหนังสือเก่าชำรุด แม้ว่าอี-บุ๊กอาจไม่ได้อรรถรสเท่าหนังสือเก่า แต่การบริโภคข่าวสารในปัจจุบันมีจำนวนมาก การพกพาแท็บเล็ตเพื่ออ่านหนังสือก็สามารถทำได้ง่าย ประกอบกับสามารถเก็บหนังสือได้มากทั้งยังช่วยให้ค้นหาได้ง่ายด้วย.

ที่มา : โดย ไทยรัฐออนไลน์ 2 มี.ค. 2555 18:00
http://www.thairath.co.th/content/242607